|ภัยจากแบคทีเรียบน “เขียง” ต้นเหตุโรคร้ายที่คุณอาจมองข้าม

ภัยจากแบคทีเรียบน “เขียง” ต้นเหตุโรคร้ายที่คุณอาจมองข้าม

ภัยจากแบคทีเรียบน “เขียง” ต้นเหตุโรคร้ายที่คุณอาจมองข้าม

“เขียง” อุปกรณ์สารพัดประโยชน์ที่ทำได้ทั้งรองหั่นผัก หั่นเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่ใช้รองเวลาทำของหวานก็สามารถทำได้ และจากการที่เรานำเขียงไปทำอะไรหลากหลาย คุณเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเขียงที่เราใช้อยู่นั้นสะอาดจริงหรือเปล่า? เพราะในบางครั้งแม้ล้างทำความสะอาดแล้วทำไมจึงยังมีกลิ่นตกค้างบนเขียงอยู่ ความจริงแล้วเขียงก็ไม่ได้ต่างอะไรจากอุปกรณ์ครัวอื่น ๆ ในห้องครัว ที่หากไม่ทำความสะอาดให้ดี ก็อาจมีโอกาสที่จะทิ้งสิ่งตกค้างเอาไว้และกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ ดังนั้นบทความนี้จึงขอกล่าวถึงที่มาของแบคทีเรียที่มีโอกาสจะพบอยู่บนเขียงจนก่อเป็นต้นเหตุของโรคร้ายหลาย ๆ โรค รวมถึงวิธีการใช้และการดูแลรักษาเขียงอย่างถูกต้องมาให้กับคุณ เมื่อมีการใช้ที่ถูกต้องและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เขียงก็จะกลายเป็นเครื่องครัวที่สะอาดและสามารถใช้ได้อย่างอุ่นใจ

ต้นเหตุและโทษของแบคทีเรียบนเขียง

เขียงมักถูกนำมาใช้ในการทำครัวแทบทุกครั้งในแต่ละมื้อโดยเฉพาะอาหารมื้อใหญ่ที่จำเป็นจะต้องใช้วัตถุดิบหลายอย่าง เขียงจึงถูกนำมาใช้ในอาหารหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารคาว ที่นำมาใช้รองหั่นอาหารประเภทเนื้อสด และเมื่ออาหารสุกแล้วหากอาหารนั้นจำเป็นจะต้องมีการหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเมนูตบท้ายจำพวกผลไม้ บางครั้งยังอาจนำมาหั่นบนเขียงเดิมอีก จากที่มาดังกล่าว การใช้เขียงในหลาย ๆ เมนู จึงทำให้เขียงมีโอกาสเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ จนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารในอนาคต และอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่วัตถุดิบอื่น ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หรือ ผลไม้ ในการทำอาหารอีกด้วย มีงานวิจัยบางส่วนที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แบคทีเรียตระกูลลิสเทอเรีย (Listeria) จากเนื้อไก่สด ผสมและแพร่กระจายอยู่บริเวณเขียงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบน “เขียงไม้” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในประเทศไทย หากร่างกายได้รับแบคทีเรียชนิดนี้ก็จะทำให้เกิดโรคท้องร่วงหรือท้องผูก หากสะสมในปริมาณมากเข้าก็จะกลายเป็นเชื้อราที่ร้ายแรง จนมีโอกาสเสี่ยงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต

ควรเลือกใช้เขียงอย่างไร ให้ปลอดภัยกับร่างกายมากที่สุด

เนื่องจากเขียงที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด มักทำมาจากวัสดุต่าง ๆ หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เขียงไม้ เขียงพลาสติก เขียงหินอ่อน หรือเขียงแก้ว เป็นต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบว่าการเลือกเขียงชนิดไหนมาใช้งานจึงจะปลอดภัยมากกว่ากัน เขียงทุกประเภทก็มีโอกาสเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับวิธีการนำมาใช้หรือการทำความสะอาด แต่หากเราใช้งานและเก็บรักษาเขียงทุกประเภทด้วยวิธีเดียวกัน เขียงที่ทำมาจากไม้จะมีโอกาสที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้มากกว่าเขียงที่ทำมาจากวัสดุชนิดอื่น

วิธีการดูแลรักษาเขียงให้สะอาดและปลอดภัยในระยะยาว

เขียงทุกชนิดไม่ว่าจะทำมาจากวัสดุชนิดใดก็ล้วนมีความเสี่ยงจากปนเปื้อนและกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียได้ทั้งสิ้น บทความนี้จึงขอแนะนำวิธีการดูแลรักษาความสะอาดของเขียงในบ้านของคุณจากคำแนะนำจากนักโภชนาการโดยตรง ดังนี้ 1. การใช้เขียงแยกกันสำหรับอาหารแต่ละประเภท การใช้เขียงแยกประเภทของวัตถุดิบที่จะนำมาหั่นบนเขียงถือเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายและลดการสะสมของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณสามารถแยกได้ตามการใช้งานจากประเภทของวัตถุดิบโดยใช้สีเป็นตัวช่วยในการจำแนก เช่น สีแดงสำหรับเนื้อสดต่าง ๆ สีเขียวสำหรับผักและผลไม้ สีน้ำเงินหรือสีฟ้าสำหรับอาหารทะเล และสีขาวสำหรับขนมหรือของหวาน เป็นต้น โดยวิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในของสดได้เป็นอย่างดี 2. เลือกซื้อเขียงที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่มีร่อง หรือรอยขูด พื้นผิวของเขียงถือเป็นจุดที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง หากพื้นผิวของเขียงมีรอยขีดข่วน รอยขรุขระ หรือเป็นหลุมก็มักมีโอกาสที่บริเวณเหล่านั้นจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ นอกจากนี้ยังควรเลือกใช้เขียงที่มีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะเวลาที่ไม่ได้ใช้งานคุณสามารถนำฝาชีหรือหาอะไรมาครอบไว้ไม่ให้แมลงวันมาตอมพื้นผิวของเขียงเพื่อลดโอกาสที่จะมีเชื้อโรคแปลกปลอมมาอยู่บนเขียง 3. เพิ่มรายละเอียดในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง ในการทำความสะอาดเขียงโดยทั่วไปก็จะมีการใช้ฟองน้ำและน้ำยาล้างจานขัดถูบริเวณผิวหน้า นอกจากการทำความสะอาดแบบทั่วไปแล้ว ควรเพิ่มการล้างผิวหน้าของเขียงด้วยน้ำร้อนเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่บริเวณผิวหน้าของเขียง หลังจากล้างเสร็จแล้วก็ให้ซับด้วยผ้าสะอาด จากนั้นก็นำไปผึ่งแดดให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อรา หากเขียงของคุณเป็นเขียงที่ใช้สำหรับของสดและมีการใช้งานอยู่บ่อยครั้ง อาจเพิ่มการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เพิ่มเติม ด้วยการนำเขียงไปแช่ในน้ำที่ผสมกับสารฟอกขาวปราศจากกลิ่นประมาณ 1 ช้อนโต๊ะในน้ำสะอาด 3.8 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วจึงนำมาล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนจะเอาไปตากไว้จนกว่าจะแห้งสนิท 4. ลดรอยแตกร้าวของเขียงไม้ด้วยน้ำมัน หากคุณใช้เขียงไม้ ควรมีการทาน้ำมันแร่หรือน้ำมันวอลนัทลงบนเขียงไม้อย่างสม่ำเสมอ โดยการนำผ้าสะอาดมาเช็ดน้ำมันลงบนเขียง ค่อย ๆ ลูบให้ทั่วตามตัวไม้ ทาจนกว่าน้ำมันจะซึมเข้าไปบนตัวเขียง เสร็จแล้วค่อยใช้ผ้าอีกผืนซับน้ำมันส่วนเกินออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแตกร้าวของเนื้อไม้ 5. คอยเปลี่ยนเขียงหากเขียงเริ่มเก่าหรือมีรอยแตก รอยแตกถือเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับเขียงที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานและสามารถเกิดขึ้นได้กับเขียงทุกประเภท รอยเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากอายุการใช้งานที่มากขึ้นหรือจากวิธีการใช้งานของตัวคุณก็ได้ แต่หากเกิดรอยแตกร้าวขึ้นแล้วคุณควรจะต้องเปลี่ยนเขียงให้เร็วที่สุด เนื่องจากรอยดังกล่าวมีโอกาสที่จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ง่ายมาก โดยหากมีเศษอาหารอุดตันจะทำความสะอาดได้ยากจนเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดีที่พร้อมปนเปื้อนทุกอย่างบนเขียงในระยะยาว ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำและข้อควรปฏิบัติในการใช้และดูแลรักษาเขียงให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คุณควรตรวจสอบเขียงอย่างสม่ำเสมอว่าเขียงของคุณยังสะอาดและไม่มีรอยชำรุดเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวได้ในระยะยาวครับ
Back to blog

Leave a comment

Please note, comments need to be approved before they are published.